เทคนิคการเลือกหลังคาที่เหมาะกับประเทศไทย


            ถ้าให้พูดถึงอากาศในประเทศไทย ทุกคนคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ประเทศไทยนั้นมีอากาศที่ร้อนมาก และบ้านคือที่พักอาศัยที่คอยป้องกัน หลบแดด หลบฝน แล้วเราจะควรจะทำหลังคาบ้านแบบไหนดีเพื่อที่จะทำให้บ้านเราไม่ร้อน  ดังนั้นก่อนที่จะสร้างบ้านหรือมีสิ่งปลูกสร้างใดๆ ควรมีการเลือกรูปแบบหลังคาให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ
ซึ่งรูปแบบหลังคาที่เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทยก็คือ หลังคาทรงจั่ว ปั้นหยา มนิลา และทรงประยุกต์อื่นๆที่ดัดแปลงจากหลังคาทั้งสามทรงนี้ หลังคาของบ้านในเขตร้อนชื้นควรมีความลาดชันสูง และเนื่องด้วยลักษณะที่มีความลาดเอียงมากทำให้ระบายน้ำฝนได้เร็วและช่วยระบายความร้อนใต้หลังคาได้ดี โดยจะมีส่วนที่ร่มเย็นไม่โดนแดดพร้อมกันทั้งผืน การที่หลังคามีความลาดชันสูงก็จะมีพื้นที่ใต้หลังคาให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นไปด้านบน จากนั้นก็ออกแบบช่องลมบริเวณใต้ฝ้าชายคาและหน้าจั่ว เพื่อให้ลมเย็นจากภายนอกนั้นพัดเข้ามายังพื้นที่ใต้หลังคา ทำให้เกิดการไหลเวียนให้อากาศร้อนลอยออกไปจากอาคารได้ ส่งผลให้พื้นที่ด้านล่างซึ่งเป็นบริเวณที่เราอยู่อาศัยไม่ร้อนอบอ้าวนั่นเอง
การเลือกหลังคายังมีปัจจัยอีกหลายอย่างให้ต้องคิด ไม่ใช่แค่เพียงสภาพอากาศ ถึงแม้จะเป็นปัจจัยหลักก็ตาม เพราะเพียงกระเบื้องมุงหลังคาอย่างเดียว ไม่อาจตอบโจทย์ความสบายแบบครบถ้วนของบ้านได้ หากละเลยโครงสร้างก็สามารถเกิดปัญหาอื่น อย่างการรั่วซึมและหลุดล่อนทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้เช่นกัน

1. การเลือกใช้วัสดุที่สู้แดดและลมฝน

            กระเบื้องหลังคาไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องดินเผาหรือกระเบื้องคอนกรีตล้วนเป็นวัสดุที่นำพาความร้อนต่ำ จึงสามารถป้องกันความร้อนจากแสงแดดไม่ให้ส่งผ่านลงไปภายในบ้านได้ ทั้งยังรับมือกับแสงยูวีได้เป็นอย่างดีอีกทั้งหลังคากระเบื้องยังเหมาะกับสภาพภูมิอากาศในแถบนี้ เพราะการซ้อนกันของกระเบื้องหลังคาและองศาที่ลาดชันจะทำให้การระบายน้ำฝนออกจากหลังคามีประสิทธิภาพกว่าหลังคาที่มีลอนเล็กและมีความลาดชันน้อย

2. เป็นหลังคาที่สามารถระบายอากาศได้ดี

            ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่าง ช่องลมที่หน้าจั่ว หรือช่องลมที่ใต้ฝ้าชายคา ทั้งหมดนี้ได้ออกแบบมาเพื่อให้เกิดการระบายอากาศที่ดี เสมือนการหายใจของบ้านเลยทีเดียว การปล่อยให้ลมเย็นๆพัดเข้าในตัวบ้านและระบายลมร้อนออก เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ภายในบ้านจะไม่ร้อนอบอ้าว และหากเป็นบ้านที่ใช้เครื่องปรับอากาศ การกั้นฝ้าภายในห้องเพื่อให้มีการระบายอากาศภายในพื้นที่ใต้หลังคาบนเหนือฝ้า ยังจะช่วยให้ความร้อนจากผืนหลังคาส่งผลกระทบลงไปยังพื้นที่ภายในบ้านได้น้อยลงอีกด้วย

3. เลือกหลังคามีชายคายื่นยาว

            การออกแบบให้ชายคายื่นยาวออกไปมีจุดประสงค์เพื่อปล่อยให้น้ำฝนระบายพ้นออกไปจากตัวบ้าน เป็นพื้นที่รับลมเข้าสู่ใต้ผืนหลังคา และยังช่วยสร้างร่มเงาไม่ให้แดดส่องเข้าสู่ตัวบ้านหรือลอดเข้ามาน้อยที่สุด จึงถือเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของการออกแบบหลังคาในรูปแบบนี้
ส่วนรูปแบบหลังคาอื่น ๆ อย่างเช่น หลังคาสแลป ที่มีลักษณะแบนราบหรือเรียกอีกอย่างว่าหลังคา ดาดฟ้า ข้อดี คือ เพิ่มพื้นที่ใช้สอยได้ แต่ข้อเสีย คือ ถ้าหากมีการก่อสร้างไม่ดี อาจทำให้น้ำรั่วซึมลงไปยังชั้นล่างได้ และพื้นคอนกรีตยังเป็นตัวเก็บอมความร้อน ทำให้ตัวบ้านร้อนขึ้นอีกด้วย หลังคาอีกแบบที่พบเห็นบ่อย ๆ คือหลังคาทรง Lean to Roof หรือเพิงหมาแหงน มีลักษณะเอียงลาดไป ด้านใดด้านหนึ่งเพื่อช่วยในการระบายน้ำฝน ส่วนใหญ่บ้านสไตล์โมเดิร์นมักใช้รูปแบบหลังคาประเภทนี้ ข้อควรระวัง คือ องศาความลาดเอียงของหลังคาต้องเพียงพอที่จะทำให้สามารถน้ำฝนระบายออกได้

จากหลักการต่างๆเหล่านี้ คุณสามารถออกแบบหลังคาของบ้านให้เข้ากับภูมิอากาศได้ไม่ยาก บ้านที่ดีก็ควรจะต้องอยู่สบาย ที่สำคัญคือต้องสวยถูกใจผู้อยู่อาศัยด้วยเช่นกัน หลังคาทรงสูงแบบไทยๆเรา นอกจากจะดูดีแล้ว ยังใช้งานได้ดี เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ จึงถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ควรนำไปพิจารณาไว้เพื่อทำให้บ้านของเราอยู่สบายอย่างยั่งยืน

ความคิดเห็น